top of page
Search
  • Writer's pictureThaismile

LINE จัดโครงการ STOP “FAKE NEWS”



ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไลน์ตระหนักถึงประเด็นเรื่องข่าวปลอม จึงได้จัดเวิร์คช็อป “STOP ‘FAKE NEWS’ ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด” เพื่อกระตุ้นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่อยู่ในสายงานด้านการสื่อสารและสารสนเทศ ให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงผลกระทบของข่าวปลอม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสำนักข่าวเอพี มาบรรยายในหัวข้อ “ข่าวจริงหรือข่าวปลอม” และไทยพีบีเอสกับหัวข้อ “ป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม” เพื่อบอกเล่าถึงลักษณะของข่าวปลอม รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ผลักดันให้ข่าวปลอมยังคงอันตรายและสร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้จัดเสวนา “ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด” โดยสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อีกด้วย

“ประเด็นเรื่องข่าวปลอมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลาย ๆ ประเทศได้เริ่มออกกฎหมายมาจัดการกับข่าวปลอมนี้ แต่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น เพราะการจะหยุดการเกิดและการแพร่กระจายได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ดี”



กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสื่อใหม่ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ข่าวปลอมแบ่งได้ 7 ประเภท คือ

1.Satire or Parody เสียดสีหรือตลก

2.False Connection โยงมั่ว

3.Misleading ทำให้เข้าใจผิด

4.False Context ผิดที่ผิดทาง นำภาพไม่เกี่ยวข้องมาสร้างข่าวต่อ

5.Impostor โกหกที่มาของข้อมูล

6.Manipulated ตัดต่อภาพ เสียง คลิปวิดีโอ และ

7.Fabricated กุข่าวปลอม สวมรอยเป็นสำนักข่าว


ข่าวปลอมสร้างโดยคน 4 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มเกรียนนักเลงคีย์บอร์ด โพสต์ข้อความเพื่อความสนุกส่วนตัว

2.กลุ่มหวังเงินค่าโฆษณา โพสต์สร้างกระแสหวังยอดฟอลโลว์ (ติดตาม)

3.กลุ่มสร้างความเกลียดชังจะโพสต์ข้อความ หรือเฮทสปีช ดูหมิ่น ยุยง ปลุกปั่น

4.กลุ่มหลอกลวง สร้างข้อมมูลเท็จ หลอกขายสินค้า หรือฉ้อโกง


  วิธีเช็กข้อมูลเพื่อให้รู้เท่าทันข่าวปลอมมี 6 ข้อสำคัญ ได้แก่ 1.ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูล เช่น สำนักข่าว หน่วยงาน หรือชื่อผู้ให้ข้อมูล 2.มีเว็บไซต์อื่น หรือแหล่งข่าวอื่นเผยแพร่หรือไม่ 3.ภาพเก่า เล่าใหม่ หรือไม่ เช็กภาพประกอบ TINEYE หรือ Google Reverse Image Search 4.เช็กความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์หรือเพจ เช่น Brand Name, URL, Logo/Verified, ADS, Font, Spelling หรือคำผิด และ Click Bait 5.ลักษณะเนื้อข่าวที่ต้องสังเกต ข่าวไม่จริงมักเล่นกับความเชื่อ เหตุการณ์รุนแรง ข่าวร้าย เลือกข้าง สร้างความเกลียดชัง และคนดังมีชื่อเสียง และ 6.ไม่นิ่งนอนใจ รายงานเมื่อเจอข่าวปลอม รีบช่วยเตือน หรือรายงานไปยังผู้เกี่ยวข้อง


ขณะนี้บริษัทโซเชียลมีเดียรายใหญ่พยายามลดปัญหาดังกล่าว โดย “เฟซบุ๊ก” ลดการแสดงผลเนื้อหาบนนิวส์ฟีด ด้านสุขภาพ การรักษาโรคที่เกินจริง รวมถึงเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ อาทิ ปุ่มแจ้งเตือนข่าวปลอมเพื่อเตือนผู้ใช้เฟซบุ๊กด้วยกันเอง และปุ่ม About this article ตรวจสอบแหล่งข่าวก่อนแชร์

          “ยูทูบ” เตรียมปรับลดการแนะนำวิดีโอที่เข้าข่ายในกลุ่มของ Borderline หรือเรื่องราวปาฏิหาริย์ต่างๆ “กูเกิล” เพิ่มมาตรการคัดกรองข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือนความจริงบนอินเทอร์เน็ต หลังเกิดปัญหาการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของข่าวปลอมในปัจจุบัน และ “ไลน์” ให้ความรู้แก่เยาวชนและตั้งหน่วยงานตรวจสอบข่าวปลอม รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มในการช่วยกรอง ตรวจจับ และเชื่อมต่อกับหน่วยงานของสภาบริหารและตอบข้อกังขาของประชาชนได้


“อังกฤษ” ประกาศหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่อง Internet Safety ชั้นประถมและมัธยม เริ่มปี 2563 เพื่อเสริมทักษะแก่เด็ก เยาวชน รู้เท่าทันข่าวลวงและข่าวปลอม “สิงคโปร์” มีกฎหมายป้องกันการแพร่กระจายของข่าว เปิดให้ทางการสามารถสอดส่องแพลตฟอร์มออนไลน์ แชทส่วนตัวของประชาชนได้

          “เยอรมนี” ควบคุมเนื้อหาเฮทสปีช ให้ลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายใน 24 ชั่วโมง ฝ่าฝืนโทษปรับสูง 50 ล้านยูโร และ “ไทย” ตั้งศูนย์เฟคนิวส์เซ็นเตอร์ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

          “เฟคนิวส์ไม่มีวันหมดไป เพราะแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว คนไทย 70-80% กระโดดเข้ามาสู่โลกอินเทอร์เน็ตทำให้การเติบโตของเฟคนิวส์มีมากขึ้น ทางที่ดีที่สุด คือการสร้างความรู้เท่าทันสื่อ โดยการทำงานร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กนกพร กล่าว


Source: คมชัดลึก http://www.komchadluek.net/news/edu-health/388915




นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกพยายามหาวิธีป้องกันของปลอมผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทย เรามุ่งไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือ การกระตุ้นให้สังคมมีจิตสำนึกและคิดวิเคราะห์ในการรับสาร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยพันธมิตรและประชาชนร่วมมือกัน ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เร่งก่อตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอม (เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์) โดยคาดว่าจะสามารถปฏิบัติการได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ เวิร์คชอป STOP “FAKE NEWS” ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด จะจัดขึ้นอีกครั้งที่จังหวัดขอนแก่นในวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าขอนแก่น และเตรียมจัดที่อินโดนีเซียและไต้หวัน ต่อไป




7 views0 comments
bottom of page